1.4  ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการออกแบบเว็บ
                ก่อนที่จะกล่าวถึงเนื้อหาเรื่องปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการออกแบบเว็บ  จะขอจำแนกกลุ่มผู้ใช้งานเว็บตามลักษณะการเข้าถึงเว็บไซต์ออกเป็น  2  กลุ่ม  ดังนี้
                s  การเข้าถึงเว็บไซต์โดยใช้  URL  หรือชื่อเว็บไซต์โดยตรง
                ผู้ใช้ในกลุ่มนี้จะมีข้อมูลหรือเป้าหมายเป็นชื่อเว็บไซต์ที่แน่นอน  ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตนเอง  เช่น  ต้องการรับชมข่าวสารเพื่อความบันเทิง  โดยมีเป้าหมายของเว็บไซต์ คือ www.sanook.com  ผู้ใช้ก็จะพิมพ์ชื่อ  URL  ในเว็บบราวเซอร์ซึ่งจะปรากฏหน้า   Homepage  ของเว็บไซต์นั้น  โดยทั่วไปการเข้าถึงเว็บไซต์ลักษณะนี้  มักจะเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ใช้งานรู้จักกันเป็นอย่างดี  ตัวอย่างเว็บไซต์ในกลุ่มนี้เช่น  Google, Yahoo, Amazon หรือ  Hotmail  เป็นต้น

                s  การเข้าถึงเว็บไซต์โดยผ่าน  Search Engine 
                ผู้ใช้ในกลุ่มนี้ทราบเพียงแค่เป้าหมายที่ตนต้องการ  แต่ไม่ทราบว่าจะหาข้อมูลจากเว็บไซต์ใดได้บ้าง  จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยเหลือ  คือ  Search Engine  โดย  Search Engine  มีหลักการทำงานที่สำคัญ  คือ  การใช้  “Keyword”  เพื่อประมวลผลรายชื่อเว็บไซต์ที่มี  Keyword   นั้นปรากกอยู่  แล้วแสดงผลเป็นรายการเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  จะเรียกรายการผลลัพธ์ที่  Search Engine  ค้นพบนี้ว่า  “Search Engine  Result Page (SERP)”  ซึ่งจำนวนผลการค้นหาหรือ  SERP  จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ Keyword  ที่ผู้ใช้กำหนด  ตัวอย่างของ  Search Engine    ได้แก่  Google, MSN  Search,  หรือ  A9  เป็นต้น

หมายเหตุ             การเข้าถึงเว็บไซต์โดยใช้  URL  โดยตรงจะเข้ามายังหน้าแรกของเว็บไซต์นั้นหรือ  Home page  เสมอ  ในขณะที่ถ้าใช้การค้นหา  Keyword  ผ่านโปรแกรม  Search Engine    จะเข้าไปยังหน้าเว็บที่  Keyword  นั้นปรากฏอยู่ซึ่งโดยมากจะไม่ใช่หน้า  Home page  เรียกการเชื่อมโยงไปยังข้อมูลที่ต้องการโดยผ่านหน้า  Home page  เช่นนี้ว่า  “Deep  Link  และเรียกหน้าเว็บเพจที่ถูกเชื่อมโยงถึงว่า  “Interior Page
                การแบ่งกลุ่มผู้ใช้เว็บออกเป็น  2  กลุ่มข้างต้น  จะสัมพันธ์กับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการ
ออกแบบเว็บ  ผู้อ่านจะพบว่าในที่นี้ได้แบ่งกลุ่มผู้ใช้งานออกตามลักษณะพฤติกรรมการเข้าถึงเว็บไซต์
ของผู้ใช้  ซึ่งพฤติกรรมของผู้ใช้งานก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการออกแบบเว็บด้วย
                ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการออกแบบเว็บ  หมายถึง  สิ่งที่นักพัฒนาเว็บต้องคำนึงเมื่อต้องการออกแบบเว็บให้มีประสิทธิภาพ  เช่น  ประสบการณ์ของผู้ใช้  พฤติกรรมการใช้งานเว็บ  เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป  เป็นต้น  ในที่นี้จึงขอจำแนกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการออกแบบเว็บออกเป็น  2  ปัจจัยที่สำคัญ  คือ  ผู้ใช้งานเว็บไซต์  (User)  และสภาพแวดล้อม  (Environment)
                s ผู้ใช้งานเว็บไซต์  (User
                ผู้ใช้งานเว็บไซต์  คือ  กลุ่มผู้ใช้เว็บทั่วไปทั้งผู้ที่เคยเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ขององค์กรแล้ว  และผู้ที่ยังไม่เคยเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ขององค์กร  ซึ่งนักพัฒนาเว็บมีหน้าที่ต้องตอบคำถามว่า  จะออกแบบเว็บไซต์อย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์มากขึ้น  นั่นหมายถึง  โอกาสที่จะสร้างรายได้ของธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย  สำหรับปัจจัยด้านผู้ใช้งานเว็บไซต์ที่ต้องคำนึงถึงมีดังนี้
                พฤติกรรมของผู้ใช้งานเว็บ  เป็นการแสดงออกถึงวิธีการใช้งานเว็บของผู้ชมเว็บไซต์  ยกตัวอย่างเช่น  วิธีการเข้าถึงเว็บไซต์  เวลาที่ใช้ในการชมข้อมูลบนเว็บเพจแต่ละหน้า  เครื่องมือที่มีการใช้งานบ่อยครั้ง  และความพึงพอใจของผู้ใช้  เป็นต้น  ตัวอย่างพฤติกรรมของผู้ใช้งานเว็บที่มีผลต่อการออกแบบเว็บ  เช่น
                - ผู้ใช้งานเว็บนิยมเข้าถึงข้อมูลในลักษณะ  “Deep  Link    คือ  ผ่านเครื่องมือ  Search Engine  มากกว่าการเข้าถึงข้อมูลโดยใช้  URL  หรือชื่อของเว็บไซต์นั้นโดยตรง
                -  ในกรณีที่เข้าถึงเว็บไซต์โดยใช้  Search Engine  ผู้ชมเว็บไซต์จะคลิกเพื่อชมรายการเว็บไซต์ที่ปรากฏในผลการค้นหาหน้าแรกๆ  เท่านั้น
                -  ในกรณีที่เข้าถึงเว็บไซต์มายังหน้า  Home page    ผู้ชมเว็บไซต์จะใช้เวลาในการชมข้อมูลในหน้า  Home page    น้อยกว่าเวลาชมข้อมูลในหน้า  Interior Page  คือ  หน้าเว็บเพจย่อย  ซึ่งมักจะเป็นหน้าเว็บที่มีรายละเอียดที่ผู้ใช้ต้องการโดยตรง
                -  โดยทั่วไป  ผู้ชมเว็บไซต์จะใช้เวลาเฉลี่ยเพียงเล็กน้อย  เพื่อพิจารณาว่าเว็บเพจดังกล่าวมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับที่ตนต้องการ  หรือมีข้อมูลใดที่น่าสนใจหรือไม่  หากไม่พบก็จะยกเลิกการใช้งานเว็บนั้นทันที
                -  เมื่อแบ่งพื้นที่หน้าเว็บเพจออกเป็นส่วนต่างๆ  ได้แก่  ส่วนบน (Header)  ส่วนท้าย  (Footer)  คอลัมน์ทางด้านขวา (Right-hand Column)  คอลัมน์ทางด้านซ้าย  (Left-hand Column)  และส่วนเนื้อหา  (Content)  แล้วลองสังเกตพบว่าพื้นที่ผู้ใช้จะคลิกเพื่อใช้งานหรือเลือกชมข้อมูลมากที่สุด  คือ  ส่วนเนื้อหา  ในขณะที่ส่วนคอลัมน์ทั้งสอง  ส่วนบน  และส่วนท้ายของเว็บ  จะเป็นพื้นที่ที่ผู้ชมเว็บไซต์ใช้งานเท่าๆกัน

พฤติกรรมของผู้ใช้งานเว็บไซต์จะเป็นแนวทางสำคัญในการออกแบบเว็บ  เนื่องจากจะทำให้ทราบว่าควรหลีกเลี่ยงการออกแบบเว็บอย่างไรที่จะทำให้ผู้ชมเว็บไซต์รู้สึกไม่อยากใช้งานเว็บนั้น  และออกแบบเว็บอย่างไรจึงจะมีผู้เยี่ยมชมเว็บเพิ่มขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น  เมื่อทราบว่าผู้ใช้งานส่วนมากเข้าถึงเว็บไซต์โดยผ่าน  Search Engine    แล้ว  องค์กรควรกำหนดวิธีที่จะทำให้  Search Engine    มีโอกาสค้นพบเว็บของเรามากที่สุด  และนอกจากค้นหาพบแล้ว  ต้องให้รายชื่อเว็บแสดงอยู่ในลำดับต้นๆ  ของรายการที่  Search Engine  ค้นพบด้วย  ซึ่งอาจทำโดยสร้าง  Keyword  ที่คาดว่าผู้ใช้น่าจะเลือกใช้เมื่อต้องการค้นหาข้อมูลในเรื่องนี้  หรืออาจจ้างบริษัทที่ทำงานด้านนี้โดยตรงก็ได้  อย่างไรก็ตามวิธีนี้องค์กรจะมีค่าใช้จ่ายสูง  หากองค์กรต้องการเลือกใช้จริงก็ต้องพิจารณาความคุ้มค่าที่จะได้รับประกอบด้วย
หมายเหตุ    ในหน้า  Home page    ของเว็บไซต์ควรประกอบด้วยสิ่งสำคัญ  4  ประการ  คือ
                                -  ชื่อของเว็บไซต์  เพื่อให้ผู้ใช้ทราบว่าเป็นเว็บไซต์ใด
                                -  วัตถุประสงค์หรือสิ่งที่ต้องการนำเสนอให้กับผู้ชมเว็บไซต์
                                -  ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับองค์กร  หรือกรณีที่เป็นเว็บไซต์เพื่อขายสินค้า 
                                  ควรนำเสนอข้อมูลของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในหน้า  Home page    
                                -  วิธีหรือทางเลือกที่จะเข้าไปยังข้อมูลที่ผู้ชมเว็บไซต์
                ระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน  เป็นความเชี่ยวชาญหรือความชำนาญในการใช้งานเว็บไซต์ของผู้ใช้งาน  ซึ่งเกิดจากการได้พบเห็น  ได้รับรู้หรือใช้งานเครื่องมือบนเว็บ  รวมทั้งได้รับฟังหรือติดตามข่าวสารเทคโนโลยีบ่อยครั้งจนสะสมเป็นประสบการณ์  ต่อมาเมื่อพบเหตุการณ์หรือลักษณะเครื่องมือที่คล้ายกันอีกครั้งก็สามารถใช้งานได้คล่องขึ้นนั่นเอง  ระดับประสบการณ์ของผู้ใช้เป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้งานเว็บไซต์ด้วย  ยกตัวอย่าง  เช่นผุ้ใช้ที่มีประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์น้อยย่อมจะมีพฤติกรรมในการชมข้อมูลในหน้าเว็บหนึ่งๆ  นานกว่าผู้ใช้งานที่มีประสบการณ์สูง  เป็นต้น
                s  สภาพแวดล้อม  (Environment
                วัตถุประสงค์หลักของการออกแบบเว็บก็คือ  สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้งาน  ดังนั้น  ปัจจัยที่แท้จริงและมีผลกระทบต่อการออกแบบเว็บมากที่สุด  คือ  ผู้ใช้งานนั่นเอง  สำหรับสภาพแวดล้อมนั้นเป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยให้สามารถใช้งานเว็บได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ซึ่งสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการใช้งานเว็บมากที่สุดก็คือ  การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี  ดังนั้นในที่นี้จึงขอกล่าวเฉพาะปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านอินเตอร์เน็ตซึ่งรวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์ใช้งานและเว็บบราวเซอร์ด้วย  โดยยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่มีผลต่อการใช้งานเว็บดังต่อไปนี้
                เวลาที่ใช้ในการดาวน์โหลดข้อมูล  การติดต่อสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต อาศัยการส่งสัญญาณข้อมูลผ่านโมเด็ม  ซึ่งในอดีตอัตราการส่งข้อมูลจะอยู่ที่ความเร็วประมาณ  28.8  KBPS  ดังนั้น  จึงไม่นิยมออกเว็บเพจที่มีกราฟฟิก  (Graphics)  มากนัก  เนื่องจากจะทำให้ใช้เวลาการโหลดข้อมูลนาน  จนทำให้ผู้ชมเว็บไซต์เกิดความเบื่อหน่าย  แต่ปัจจุบันเมื่อมีการนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงหรือการส่งสัญญาณ  “บรอดแบนด์  (Broadband)”  ที่เรียกว่า  “Digital  Subscriber Lines (DSL)”  หรือ  “Asymmetric Digital  Subscriber Lines (ASDSL)”  ซึ่งประมวลผลด้วยสัญญาณดิจิตอล  จึงทำให้การนำเสนอข้อมูลบนเว็บเพจทำได้อย่างรวดเร็ว  การใส่กราฟฟิกเพื่อตกแต่งเว็บจึงไม่ใช่ข้อจำกัดในการออกแบบเว็บอีกต่อไป
                ปัญหาการออกแบบ  Frame  ในเว็บบราวเซอร์เวอร์ชันเก่า  เช่น  Netscape Navigator 2.0  จะพบปัญหาการแสดงผลของเว็บเพจที่ออกแบบด้วย  Frame    ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีของเว็บบราวเซอร์เวอร์ชันใหม่สามารถลดปัญหาการแสดงผลของ  Frame  ได้
                การใช้มัลติมีเดีย  (Multimedia)  ปัจจุบันการออกแบบเว็บเพจโดยนำเสนอข้อมูลด้วยมัลติมีเดีย  หรือแทรกคลิปวิดีโอ  (Clip Video)  ได้รับการยอมรับและนำมาใช้งานมากขึ้น  เนื่องจากอุปกรณ์รับส่งสัญญาณที่ได้ถูกพัฒนาให้มีขนาดความกว้างของแบนด์วิธ  (Bandwidth)    เพิ่มขึ้น  ประสิทธิภาพหรือความเร็วในการส่งสัญญาณจึงมากขึ้น  นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างคลิปวิดีโอเพื่อใช้แสดงผลบนอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะอีกด้วย
                การจัดโครงร่างเว็บเพจ  (Layout) โครงร่างเว็บเพจมีความสัมพันธ์กันกับความละเอียดของจอภาพที่ใช้แสดงผลซึ่งปัจจุบันเราออกแบบเว็บเพจเพื่อแสดงผลบนความละเอียดเท่ากับ  800×600    พิกเซล (เป็นขนาดของจอภาพที่นิยมใช้กัน)  อย่างไรก็ตาม  ในอนาคตต้องมีการพัฒนาจอภาพให้มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างแน่นอน  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการออกแบบโครงร่างเว็บเพจได้  ดังนั้นจึงต้องพิจารณาปัจจัยด้านนี้ด้วย  (อาจแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการออกแบบโครงร่างเว็บเพจแบบ  “ Liquid Layout”  คือ  ขนาดของหน้าต่างจะแปรผันไปตามขนาดของจอภาพที่เปลี่ยนไปได้)
                การทำงานข้ามแพลตฟอร์ม  (Cross-Platform)  เว็บบราวเซอร์ที่ใช้งานกันในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้นไม่ได้จำกัดแค่เพียง  Internet Explorer ของค่าย  Microsoft  หรือ  Netscape Navigator ของค่าย Netscape  เท่านั้น  แต่ยังมีเว็บบราวเซอร์อื่นอีก  เช่น  Mozilla  หรือ  Opera  เป็นต้น  การออกแบบเว็บเพจจึงต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานในกลุ่มนี้  โดยจะต้องทดสอบการทำงานกับเว็บบราวเซอร์ต่างๆ  เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการแสดงผลข้อมูล
                ที่กล่าวมาข้างต้น  เป็นตัวอย่างปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการออกแบบเว็บที่นักพัฒนาเว็บควรคำนึงถึง  สำหรับรายละเอียดและแนวทางการแก้ไขสามารถศึกษาเพิ่มเติมจากบทที่  2  การออกแบบหน้าเว็บเพจ  (Page Design)

สรุป
                การพัฒนาเว็บไซต์  จำเป็นต้องกำหนดรอบการทำงานหรือแบบจำลองกระบวนการ  (Process  Model)  เพื่อให้ผู้ออกแบบใช้แบบใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเว็บได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ  ในที่นี้ได้กล่าวถึงแบบจำลองกระบวนการที่พัฒนาขึ้นโดย  Jesse  James  Garrett  ซึ่งจำแนกกระบวนการพัฒนาเว็บออกเป็น  5  ขั้นตอน  คือ  การสร้างกลยุทธ์ในการออกแบบ  (Strategy Plane)  การกำหนดขอบเขตของข้อมูล  (Scope Plane)  การจัดทำโครงสร้างข้อมูล  (Structure Plane)  การออกแบบโครงร่างเว็บเพจ  (Skeleton  Plane)  และการออกแบบรูปลักษณ์ของเว็บเพจ  (Surface Plane
                สำหรับการออกแบบเว็บเพจให้มีประสิทธิภาพด้านการใช้งาน  จะมุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาเว็บตั้งแต่ตอนที่  4  ซึ่งเป็นขั้นตอนการออกแบบส่วนอินเตอร์เฟส  และสร้างระบบนำทาง  (Navigation System)  บนหน้าเว็บ  เนื่องจากการพัฒนาเว็บในขั้นตอนนี้  มีผลต่อการทำงานของผู้ใช้มากที่สุด  และมักสร้างปัญหาการทำงานให้กับผู้ใช้บ่อยครั้ง  โดยสามารถจำแนกความรุนแรงของปัญหาที่เกิดจากการใช้งานเว็บออกเป็น  3  ระดับ  คือ  ปัญหาที่มีระดับความรุนแรงสูง  (High Severity Problems)  ปัญหาที่มีระดับความรุนแรงปานกลาง  (Medium Severity Problems )  และปัญหาที่มีระดับความรุนแรงต่ำ  (Low Severity Problems)  ซึ่งเกณฑ์ในการจำแนกระดับความรุนแรงของปัญหาข้างต้น  มี  3  ประการ  คือ  ความถี่ในการพบปัญหา  (Frequency)  ผลกระทบจากปัญหา  (Impact)  และการคงอยู่ของปัญหา  (Persistence)  ตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากการออกแบบเว็บที่สำคัญ  เช่น  ผู้ใช้ไม่สามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้  ใช้ภาพกราฟฟิกเพื่อนำเสนอข้อมูลมากเกินไป  หรือสร้างระบบนำทางที่ขาดประสิทธิภาพ  เป็นต้น
                จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น  จึงทำให้  “Web Usability”  กลายเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนาเว็บ  ที่ให้ผู้ออกแบบมุ่งเน้นประสิทธิภาพด้านการใช้งานเว็บของผู้ใช้  โดยเว็บไซต์ที่ดีประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ  คือ  มีเครื่องมือบนหน้าเว็บที่ใช้งานง่าย  สามารถใช้งานได้จริง  ให้ผลลัพธ์ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว  และมีจำนวนข้อผิดพลาดน้อยที่สุด  ซึ่งแนวทางการออกแบบเว็บให้สอดคล้องกับคุณลักษณะเว็บที่ดีข้างต้น  จะต้องพิจารณาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการออกแบบเว็บ  2  ประการ  คือ  ผู้ใช้งานเว็บไซต์  (User)  และสภาพแวดล้อม  (Environment)  ปัจจัยด้านผู้ใช้งานเว็บไซต์  เป็นความพยายามที่จะหาวิธีเพิ่มจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์มากขึ้น  โดยพิจารณาจากพฤติกรรมของผู้ใช้งานเว็บ  และระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน  ส่วนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม  เป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยให้สามารถใช้งานเว็บได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ตัวอย่างสภาพแวดล้อมที่สำคัญ  คือ  การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี  การพัฒนาอุปกรณ์รับส่งข้อมูล  เป็นต้น

 
;