1.2  ปัญหาที่สำคัญของการออกแบบเว็บ
            ปัจจุบันการสร้างเว็บเพจสามารถทำได้ง่าย  เพราะมีโปรแกรมอำนวยความสะดวกในการสร้างเว็บมากมาย  และยังมีโปรแกรมเสริม  (Plug-in)  ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแสดงผลด้านมัลติมีเดียของเว็บบราวเซอร์  เช่น  โปรแกรม  Flash Media  Player  อย่างไรก็ตาม  การออกแบบเว็บที่ดีไม่ได้มุ่งเน้นคุณสมบัติด้านความสวยงาม  การใช้ลูกเล่นหรือเทคนิคนำเสนอด้านกราฟฟิกที่แปลกตาเพียงอย่างเดียว  ดังที่ผู้ออกแบบเว็บในปัจจุบันพยายามแข่งขันกัน  แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการใช้งาน  (Usability)  เครื่องมือภายในเว็บเพจของผู้ใช้ด้วย  (อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป)  เพราะถึงแม้เทคนิคการนำเสนอที่เพิ่มขึ้นมา  จะช่วยสร้างความสวยงามบนหน้าเว็บได้ก็ตาม  แต่อาจสร้างปัญหาการใช้งานด้านอื่นๆ  อีกหลายประการเช่นกัน  นอกจากนี้การให้ความสนใจกับรูปแบบนำเสนอมากเกินไป  อาจทำให้ผู้ออกแบบมองข้ามความสำคัญขององค์ประกอบด้านเนื้อหาข้อมูลบนหน้าเว็บที่ควรมี  จนกลายเป็นปัญหาต่างๆ  ในระหว่างการใช้งาน  ทั้งนี้  สามารถจำแนกระดับความรุนแรงของปัญหาที่เกิดจากการออกแบบเว็บออกเป็น  3  ระดับ  ดังนี้
                ปัญหาที่มีระดับความรุนแรงสูง  (High Severity Problems)  เป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ชมเว็บไซต์ขาดความเชื่อมั่นต่อบริษัท  และผลักดันให้เลิกสนใจในผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วยการออกแบบจากเว็บไซต์นั้น  ทำให้บริษัทต้องสูญเสียรายได้ไป  ปัญหาลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดใหญ่  หรือธุรกิจที่จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า  เช่น  ธนาคาร  ซึ่งต้องให้ข้อมูลกับลูกค้าเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและกล้าที่จะนำเงินมาลงทุนด้วย  ดังนั้นถ้าเว็บไซต์ของธนาคารนำเสนอข้อมูลในด้านต่างๆ  ไม่ครบถ้วน  เช่น  ฐานะทางการเงิน  การก่อตั้ง  สาขาที่ให้บริการ  เป็นต้น  อาจทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นและยกเลิกการตัดสินใจที่จะร่วมลงทุนกับธนาคารได้
                ปัญหาที่มีระดับความรุนแรงปานกลาง  (medium Severity Problems)  เป็นปัญหาที่รบกวนการทำงานของผู้ชมเว็บไซต์บางคน  อาจเกิดจากผู้ใช้ไม่แน่ใจ  สับสน  กับวิธีการใช้งานหรือข้อมูลของสินค้า  ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ชมเว็บไซต์ไม่สนใจในผลิตภัณฑ์ของบริษัทและออกจากเว็บไซต์นั้น  ส่งผลให้บริษัทสูญเสียลูกค้าเช่นเดียวกันกับกรณีแรก  แต่มีระดับความรุนแรงน้อยกว่า
                ปัญหาที่มีระดับความรุนแรงต่ำ  (Low Severity Problems)   เป็นปัญหาเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกของเว็บเพจที่ไม่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของข้อมูล  เช่น  เว็บเพจนั้นมีข้อมูลครบถ้วน  เพียงแต่การจักวางข้อมูลอาจไม่เป็นระเบียบ  หรือขาดความสวยงาม  เป็นต้น  ปัญหาลักษณะนี้มักจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานของผู้ชมเว็บไซต์มากนัก  และไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ชมเว็บไซต์เลิกสนใจผลิตภัณฑ์ของบริษัท

ตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากการออกแบบเว็บที่สำคัญมีดังนี้
                s  ผู้ใช้ไม่สามารค้นหาข้อมูล
                ผู้ใช้ไม่สามารถค้นหาข้อมูลได้  เกิดจากสาเหตุสำคัญหลายประการ  ได้แก่  การเก็บรวบรวมข้อมูลสินค้าไม่ครบถ้วน  การไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลสินค้า  (ป้องกันการแข่งขันทางธุรกิจ)  การจัดวางตำแหย่งข้อมูลที่ไม่เหมาะสม  การเปลี่ยนรูปแบบอินเตอร์เฟสของหน้าเว็บเพจย่อยให้แตกต่างกัน  ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้ว่า  ขณะนี้ยังอยู่ในเว็บไซต์เดิมหรือไม่  ลักษณะเหล่านี้จะทำให้ผู้ใช้ค้นหาข้อมูลไม่พบ  และเป็นสาเหตุผู้ใช้ออกจากหน้าเว็บนั้น
                s  กราฟฟิกที่รบกวนการทำงาน
                การออกแบบเว็บโดยใช้กราฟฟิกอาจต้องใช้พื้นที่ข้อมูลมากขึ้น  ยิ่งมีไฟล์ภาพกราฟฟิกมากเท่าใด  ขนาดพื้นที่ข้อมูลก็ยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย  ทำให้การรับส่งข้อมูลต้องใช้เวลานานกว่าจะดาวน์โหลดข้อมูลเสร็จ  ซึ่งสร้างความเบื่อหน่ายให้กับผู้ใช้เป็นอย่างมาก  และกราฟฟิกที่รบกวนการทำงานของผู้ใช้ในที่นี้ยังหมายถึง  การสร้างข้อความกระพริบ  เสียงประกอบ  ภาพเคลื่อนไหว  (Animation)  บนหน้าเว็บที่มีมากเกินไป  ซึ่งผู้ใช้ไม่สามารถควบคุมให้หยุดการทำงานดังกล่าวได้



                s  ระบบนำทางขาดประสิทธิภาพ
                ระบบนำทาง “(Navigation System)”  เป็นหัวใจหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลภายในเว็บ  และยังเป็นเป้าบอกทางให้ผู้ใช้ไปถึงจุดหมายปลายทางหรือข้อมูลที่ต้องการ  ซึ่งถ้าเส้นทางมีความซับซ้อนมาก  ป้ายบอกทางแสดงไม่ชัดเจน  โอกาสที่ผู้ใช้จะค้นหาข้อมูลพบย่อมมีน้อยด้วย  ดังนั้น  ผู้ออกแบบจึงควรจัดกลุ่มข้อมูลเพื่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงให้เป็นระบบ  และระบุชื่อเว็บเพจหรือเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงถึงให้ชัดเจน  นอกจากนี้อาจหาเส้นทางเพื่อประหยัดเวลาค้นหาข้อมูลโดยสร้างเครื่องมือนำทางอื่น  เช่น  เครื่องมือค้นหาข้อมูล  (Search Engine)  หรือแสดงแผนผังเว็บไซต์  (Site Map)  เพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจโครงสร้างภายในเว็บไซต์ได้ดียิ่งขึ้น
                s  การสร้างหน้าเว็บด้วยเฟรม
                การสร้างหน้าเว็บด้วยเฟรม  (Frame)  เป็นปัญหาการออกแบบเว็บที่มีมานาน  คือ  ไม่สามารถระบุ  URL  ของเฟรมย่อย  ภายในเฟรมเซ็ตนั้นได้ทั้งหมด  ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนเฟรมย่อยภายในหน้าเว็บ  เพื่อดูข้อมูลใหม่แล้วหากต้องการกลับมายังหน้าเฟรมย่อยเดิม  ด้วยการกดปุ่ม  Back    จะทำไม่ได้  เพราะชื่อ  URL  ไม่ถูกต้อง    และปัญหาของ  URL  นี้เอง  จึงทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถสร้างบุ้คมาร์ค (Bookmark)  หรือเก็บชื่อ  URL  ของหน้าเว็บนั้น  เพื่อเข้ามาเยี่ยมชมภายหลังได้  อย่างไรก็ตามการสร้างหน้าเว็บด้วยเฟรมก็มีข้อดีบางประการ  ซึ่งจะได้อธิบายเพิ่มเติมในบทที่  2
                s  การเปลี่ยนสถานะของลิงค์
                หน้าเว็บจำนวนมากที่ไม่ได้กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงสถานะของลิงค์เชื่อมโยง  ทั้งหน้าเว็บที่ผู้ใช้กำลังเยี่ยมชมอยู่และหน้าเว็บที่ผ่านการเยี่ยมชมแล้ว  ซึ่งสถานะของลิงค์เป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบไม่ควรมองข้าม  เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ใช้เสียเวลาเยี่ยมชมข้อมูลซ้ำๆ  (เมื่อมีลิงค์จำนวนมาก)  นอกจากนี้ควรกำหนดสีสถานะเชื่อมโยงของลิงค์ตามแบบมาตรฐานด้วย  เพราะผู้ใช้จะได้ไม่ต้องเสียเวลาทำความเข้าใจความแตกต่างของลิงค์ที่เปลี่ยนไปจากสีมาตรฐานนั้น
                s  ใช้ตัวอักษรและการเน้นข้อความที่ไม่เหมาะสม
                ตัวอักษรเป็นองค์ประกอบย่อยภายในหน้าเว็บ  ที่เป็นพื้นฐานการนำเสนอข้อมูล  โดยปัญหาที่เกิดจากการใช้ตัวอักษร  คือ  การกำหนดขนาดอักษรไม่เหมาะสม  ยกตัวอย่างเช่น  ขนาดตัวอักษรเล็กเกินไปทำให้มองเห็นได้ยาก  หรือกำหนดขนาดตัวอักษรไว้คงที่  ผู้ใช้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้  เป็นต้น  ปัญหาเกี่ยวกับตัวอักษรยังรวมถึงรูปแบบการเน้นข้อความโดยใช้การขีดเส้นใต้  ซึ่งสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้ที่อาจเข้าใจผิดว่า  เป็นข้อความเชื่อมโยงได้

                s  การปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย
                ทุกครั้งที่ผู้ใช้เข้ามายังหน้าเว็บ  นอกจากจะเข้ามาเพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการโดยเฉพาะแล้ว  อาจต้องการเข้ามาอ่านข่าวสารที่มีการปรับปรุงใหม่หรือชมข้อมูลผลิตภัณฑ์สินค้าตัวใหม่  เป็นต้น  ดังนั้นผู้ออกแบบจะต้องคอยปรับปรุง  (Update)  ข้อมูลหน้าบนเว็บทุกครั้ง  และแจ้งเตือนการปรับปรุงข่าวสารนั้นเสมอ  โดยอาจระบุวันเวลาที่มีการปรับปรุง  เพื่อให้ผู้ใช้ทราบว่าข้อมูลได้ถูกต้องปรับปรุงแล้ว
                ตัวอย่างปัญหาการออกแบบเว็บที่กล่าวมาข้างต้น  เป็นสิ่งที่จะช่วยลดทอนความสามารถในการใช้งานเว็บเพจของผู้ใช้ลงเป็นอย่างมาก  และยังเป็นสาเหตุให้ผู้ใช้เลิกเข้ามาเยี่ยมชมหน้าเว็บขององค์กรด้วย  นั่นหมายถึง  การสูญเสียโอกาสที่จะจำหน่ายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไปอย่างน่าเสียดาย  ดังนั้น  ในระหว่างขั้นตอนการทดสอบการใช้งานเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นมา  ผู้ออกแบบควรนำข้อมูล  Feedback  ที่เป็นปัญหาต่างๆ  กลับมาวิเคราะห์เพื่อวัดระดับความรุนแรงของปัญหา  และนำมาแก้ไขให้ถูกต้องก่อนที่ปัญหานั้นจะเกิดเมื่อใช้งานจริง  โดยสามารถใช้เกณฑ์การจำแนกระดับของปัญหา  3  เกณฑ์  ดังต่อไปนี้
                ความถี่ในการพบปัญหา  (Frequency)  วัดจากกลุ่มผู้ใช้ที่พบปัญหาว่ามีจำนวนมากเท่าใด  ถ้าพบว่าปัญหานี้เกิดกับผู้ใช้ทุกคน  นั่นแสดงว่ามีความถี่ในการพบปัญหาสูง  ปัญหานั้นจัดอยู่ในระดับความรุนแรงสูง  ในทางกลับกันถ้ามีผู้ใช้พบปัญหานี้น้อยราย  แสดงว่ามีความถี่ในการพบปัญหาต่ำ  ก็จะจัดอยู่ในระดับความรุนแรงปานกลางหรือต่ำ  ตามลำดับ
                ผลกระทบจากปัญหา  (Impact)  วัดจากปัญหาที่ผู้ใช้พบว่าส่งผลกระทบให้เกิดสิ่งใดบ้าง  โดยเป็นค่าเฉลี่ยระหว่างผลกระทบเล็กน้อยที่รบกวนผู้ใช้งาน  จนกระทั่งเป็นผลกระทบต่อการทำงานของผู้ใช้ทำให้ตัดสินใจออกจากเว็บนั้น  หากพบว่าค่าเฉลี่ยจากผลกระทบของปัญหาสูง  ปัญหานั้นจัดอยู่ในระดับที่มีความรุนแรงสูง  แต่ถ้าค่าเฉลี่ยต่ำก็จะจัดอยู่ในระดับความรุนแรงปานกลางหรือต่ำ  ซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยอื่นควบคู่ด้วย
                การคงอยู่ของปัญหา  (Persistence)  วัดจากปัญหานั้นยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่  ในบางครั้งการพบปัญหาระหว่างการทำงานอาจเป็นเรื่องธรรมดา  แต่ถ้าผู้ใช้งานกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์บ่อยครั้ง  และยังคงเจอปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง  การคงอยู่ของปัญหาเช่นนี้จะจัดอยู่ในปัญหาที่มีระดับความรุนแรงสูงทันที
                เกณฑ์การพิจารณาระดับความรุนแรงของปัญหาของผู้ใช้งานแต่ละคนอาจแตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ผู้ชมเว็บไซต์พบในขณะนั้น  ยกตัวอย่างเช่น  ในเว็บไซต์เดียวกันแต่มีผู้ใช้งาน 2  คน  ผู้ใช้งานคนที่  1  ซึ่งเพิ่งเข้ามาใช้งานเว็บไซต์และพบปัญหานี้เป็นครั้งแรก  อาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาปัญหาดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นอีกในครั้งต่อไป  ในขณะที่ผู้ใช้คนที่  2  เข้ามาใช้งานเว็บไซต์นี้บ่อยครั้ง  และยังคงพบปัญหาเช่นนี้เสมอ  ในกรณีนี้ระดับความรุนแรงของปัญหาจะอยู่ในระดับสูงทันที  เป็นต้น

 
;